กว่าจะเป็น..สำเหร่ในวันนี้

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่เป็นคริสตจักรโปรเตสแตนท์ของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมิชชันนารีคณะนี้ได้เริ่มวางรากฐานเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 3 ) ในช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีมิชชันนารีโปรเตสแตนท์หลายกลุ่ม หลายคณะเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างต่อเนื่อง ต้องประสบปัญหาหลายประการ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ การต่อต้านจากคนท้องถิ่น คงมีเพียงคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ค.ศ. 1828 มิชชันนารีโปรเตสแตนท์ยุคบุกเบิก
                ค.ศ. 1828 ศาสนาจารย์นายแพทย์ คาร์ล เฟรดเดอริค ออกัสตัส กุ๊ตสลาฟ ( Rev.Dr. Carl Friedrick Augustus Gutzlaff ) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์จาคอบ ทอมลิน ( Rev.Dr. Jacob Tomlin ) เป็นมิชชันนารีโปรเตสแตนท์ 2 ท่านแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ท่านทั้งสองได้รับความอนุเคราะห์ในด้านที่อยู่อาศัยจากหลวงอภัยพานิช ( Segnior Carlos De Silveira ) กงสุลโปรตุเกสในขณะนั้น ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาได้เฉพาะชาวจีนและหนังสือศาสนาที่นำมาเผยแพร่ต้องเป็นเรื่องศาสนาจริงๆเท่านั้น
ในสมัยนั้นสังคมไทยยังมีวิถีการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ยังไม่มีผู้ใดอยากจะเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่มากนัก อย่างไรก็ดีที่มิชชันนารีทั้งสองท่านเดินทางเข้ามายังประเทศไทย จากนั้นเป็นต้นมาก็มีมิชชันนารีโปรเตสแตนท์อีกหลายคณะเดินทางเข้ามา เช่น
คณะ American Baptist ได้ส่งศาสนาจารย์ เทเลอร์ โจนส์ ( Rev. John Taylor Jones ) ศาสนาจารย์ วิลเลียม ดีน ( Rev. William Dean ) มาในปีค.ศ.1833 และต่อมาในปีค.ศ.1835 ศาสนาจารย์ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ ( Rev. Dan Beach Bradley ) ก็ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
คณะ American Board of Commissioners for Foreign Missions ( A.B.C.F.M. ) ได้ส่งศาสนาจารย์ ชาร์ล โรบินสัน ( Rev. Charles Robinson ) และศาสนาจารย์ สตีเฟน จอห์นสัน ( Rev. Stephen Johnson ) มาในปีค.ศ.1834 เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ศจ. ชาร์ล โรบินสัน ได้ไปเช่าที่ของนาย กลิ่น ตุลาการคนหนึ่่ง ข้างวัดเกาะ ( วัดสัมพันธวงศ์ในปัจจุบันนี้ ) และได้สร้างบ้านไม้สัก 2 หลัง เป็นที่อยู่อาศัยแต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทางเข้าบ้านเปียกแฉะและรกรุงรัง ต้องทำสะพานไม้ทอดเดินเข้าไป บริเวณรอบๆล้วนเป็นกระท่อมและบ้านหลังคามุงจาก ถัดไปไม่ไกลเป็นตลาดสำเพ็ง มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อศจ.นพ. แดน บีช บรัดเลย์ เดินทางเข้ามาประเทศไทยใหม่ๆนั้น ท่านก็ได้มาพักอยู่ที่ข้างวัดเกาะนี้ และได้ใช้ใต้ถุนบ้านของศจ. จอห์นสัน เป็นที่รักษาคนไข้ และสถานที่นมัสการไปในตัว แต่งานประกาศของมิชชันนารีที่วัดเกาะนี้ดำเนินอยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1835 กัปตันเวลเลอร์ นายเรือสินค้าของมิสเตอร์ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลในสมัยนั้น ได้มาเยี่ยมบ้านมิชชันนารี ในขณะที่ดื่มสุรามึนเมาและเข้าไปยิงนกพิราบในวัดเกาะ พวกเณรและลูกศิษย์วัดได้รุมทำร้ายกัปตันเวลเลอร์จนได้รับบาดเจ็บ เป็นเรื่องราวฟ้องร้องกันอยู่หลายสัปดาห์ จนเรื่องชักจะลุกลามใหญ่โตขึ้นไปทุกที นายกลิ่นเจ้าของที่ดินจึงได้ขอร้องพวกมิชชันนารีให้ย้ายที่อยู่ออกไปจากบ้านของตน มิชชันนารีจึงจำเป็นต้องย้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทางฝั่งธนบุรี และได้เช่าบ้านหลังเล็กๆ ในหมู่บ้านชาวคาทอลิกแถวๆกุฎีจีนใกล้กับโบสถ์ซางตาครูซ
ต่อมาในปีค.ศ. 1838 เจ้าพระยาพระคลัง ( สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ในรัชกาลที่ 4 ) ได้ปลูกบ้านใหญ่ 2 หลัง ให้หมอบรัดเลย์และคณะเช่า เดือนละ 65 บาท บ้านดังกล่าวอยู่ริมคลองหน้าวัดประยุวงศาวาส ปัจจุบันคลองนี้ถูกถมไปเรียบร้อยแล้ว และที่นี่เองหมอบรัดเลย์ได้ใช้เป็นสถานพยาบาลและโรงพิมพ์ทำงานของท่านและคณะต่อมาอีกหลายปี

ค.ศ. 1840 การเข้ามาของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน
                จากการที่หมอบรัดเลย์และคณะได้เข้ามาพำนักในประเทศ และเปิดสถานที่รักษาคนไข้ โรงพิมพ์นี้เองทำให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เริ่มที่จะให้ความสนใจต่อวิทยาการสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น เป็นผลให้มิชชันนารีคณะอื่นๆ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ค.ศ. 1840 มิชชันนารีของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน 2 ท่านแรก ได้เดินทางมาถึงยังประเทศ ศจ. วิลเลียม พี บูแอล ( Rev. William P. Buell ) และภรรยา เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ศจ. บูแอล ก็ได้ศึกษาภาษาไทยทันที แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต่อมาภรรยาของท่านได้ป่วยเป็นอัมพาต ทำให้ไม่สามารถที่จะทำงานต่อในประเทศไทยได้ ท่านทั้งสองจึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1844
งานของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้เริ่มใหม่อย่างถาวรและต่อเนื่อง โดยการเข้ามาของ ศจ. สตีเฟน แมตตูน ( Rev. Stephen Mattoon ) และภรรยา กับ นพ. ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ ( Rev. Samuel Renold House ) มิชชันนารีกลุ่มนี้ได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1847 คนไทยมักเรียกหมอแมตตูนว่า " หมอมะตูม " และเรียกหมอเฮาส์ว่า " หมอเหา " ต่อมาในปีค.ศ. 1849 มิชชันนารีอีกครอบครัวหนึ่งก็เดินทางเข้ามาสมทบคือ ศจ. สตีเฟน บุช ( Rev. Stephen Bush ) และภรรยา

ค.ศ. 1849 การตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพ และหมอแมตตูน ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักร
                ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1849 คณะมิชชันนารีทั้ง 5 คน คือ ศจ. สตีเฟน แมตตูน ( Rev. Stephen Mattoon ) และภรรยา กับ นพ. ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ ( Rev. Samuel Renold House )  ศจ. สตีเฟน บุช ( Rev. Stephen Bush ) และภรรยา ได้รวมกลุ่มกันตั้งคริสตจักรขึ้นเรียกว่า " คริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพ " หมอเฮาส์ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนที่ตั้งคริสตจักรนี้เอาไว้ว่า

" ภายหลังรับประทานน้ำชาแล้ว เราได้ประชุมสมาชิกของมิชชั่น และได้จัดตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนแห่งกรุงเทพขึ้น โดยมีศาสนาจารย์ สตีเฟน แมตตูน เป็นศิษยาภิบาล หมอเฮาส์เป็นผู้ปกครอง ศจ. สตีเฟน แมตตูน ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสของมิชชั่น เป็นประธานในที่ประชุมเปิดประชุมโดยการอ่านพระธรรมวิวรณ์บทที่ 1 ซึ่งเป็นคำกล่าวแสดงความนับถือไปยังคริสตจักรในเอเซีย ในนามของพระเยซูคริสต์ทรงเป็นประมุขแห่งคริสตจักร พวกเราเพียง 5 คน ได้มาร่วมกันจัดตั้งคริสตจักรขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นการเริ่มต้นงานใหญ่ สมาชิกฆราวาสของคริสตจักรมีหมอเฮาส์ มิสซิส แมตตูน มิสซิส สตีเฟน บุช ( ส่วนหมอแมตตูนและหมอบุชจะเป็นสมาชิกสามัญไม่ได้ เพราะเป็นศาสนาจารย์ ) "

จากบันทึกของหมอเฮาส์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดการตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 กรุงเทพ และทำให้ทราบว่า " หมอแมตตูน " เป็นศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักร
                หลังจากตั้งคริสตจักรได้ 8 วัน ท่านซินแส กีเอง ก๊วยเซียน ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของคริสตจักร ท่านซินแสเดิมเป็นคริสเตียนอยู่แล้ว โดยเป็นสมาชิกสังกัดคณะ A.B.C.F.M ต่อมาคณะนี้ได้ยกเลิกการเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย ดังนั้นท่านจึงโอนสมาชิกสภาพมาสังกัดคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ท่านซินแสกีเอง เป็นต้นตระกูลบรรพบุรุษคริสเตียนของคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ เพราะบุตรชายหญิง 5 คนของท่าน เป็นต้นตระกูลใหญ่ๆ 5 ตระกูลคือ
                1. นายเผ็ง เผ็งประสิทธิ์ ต้นตระกูลเผ็งประสิทธิ์
                2. นางด่วน บุญอิต-บันสิทธิ์ ต้นตระกูลบุญอิต-บันสิทธิ์
                3. นางคุณ อุนยะวงษ์ ต้นตระกูลอุนยะวงษ์
                4. นายฮองหงี สาระโกเศศ ต้นตระกูลสาระโกเศศ
                5. นายเทียนสู่ กีระนันทน์ ต้นตระกูลกีระนันทน์

ค.ศ. 1852 การก่อตั้งโรงเรียนของมิชชั่น
                วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1852 มิชชั่นได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นที่กุฎจีน และต่อมาโรงเรียนนี้ได้ย้ายมาที่สำเหร่ และถนนประมวญ ตามลำดับ และได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในเวลาต่อมา

ค.ศ. 1857 ย้ายมา " สำเหร่ "
                คำว่า " สำเหร่ " มีความหมายหลายความหมาย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นชื่อของพรรณไม้ชนิดหนึ่ง
ส. พลายน้อย ได้ให้ความเห็นว่า น่าจะมาจากคำว่า " สำแร " ในภาษาเขมรแปลว่า " ชาวนา " แต่ก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมจึงต้องมีชาวนาที่สำเหร่นี้
สำหรับ ชื่อ "สำเหร่" นี่ก็เคยปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 มี 2 เรื่องคือ
                1. เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1828 ตอนที่เจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฎ ต่อมาถูกจับใส่กรงขังลงมายังกรุงเทพและเสียชีวิต ทางการเลยเอาศพมาเสียบประจานไว้ที่ "สำเหร่" ดังข้อความที่ปรากฎไว้ในพงศาวดารว่า ".....ครั้นเวลาบ่ายแดดริม ก็เอาบุตรหลานที่จับได้ขึ้นขาหย่างเป็นแถวไปร้องประจานโทษ ต่อเวลาจวนพลบก็เอาเข้ามาจำไว้ที่ศาลาดังเก่า ทำดังนี้อยู่ประมาณ 7 วัน 8 วัน พออนุป่วยเป็นโรคลงโลหิตก็ตาย โปรดให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่ "สำเหร่"
                2. อีกเรื่องหนึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1838 เป็นเรื่องของพระศรีภักดีเป็นชู้กับเจ้าจอมอิ่ม ซึ่งต่อมาทางการได้พิพากษาโทษ โดยให้เอาไปประหารชีวิตที่ "สำเหร่" ดังข้อความที่ปรากฎในพงศาวดารว่า ".....ขอให้เอาทั้ง 8 คน ไปประหารชีวิตเสีย แล้วริบราชบาตรเป็นของหลวงให้เสร็จ อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่างต่อไปก็โปรดให้เอาตามคำลูกขุนปรึกษาครั้น ณ วันเดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ ก็เอาคนประหารชีวิตเสียที่ "สำเหร่"
จากพงศาวดารข้างต้นเห็นได้ว่า "สำเหร่" ในสมัยก่อนนั้นเป็นที่รกร้าง เปลี่ยว เพราะอยู่ห่างจากย่านชุมชน เช่น สำเพ็ง ท่าเตียน สำหรับสาเหตุที่คณะมิชชันนารีได้ที่ดินที่สำเหร่นั้น เรื่องมีอยู่ว่า...
นาย เดวิด โอ คิง เป็นพ่อค้าอยู่ที่เมืองเซียงไฮ้ และรับราชการเป็นกงศุลปรัสเซียประจำเมืองเซียงไฮ้อีกตำแหน่งด้วย ได้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1855 และต่อมาได้ให้หมอแมตตูนช่วยซื้อที่ดินที่สำเหร่สำหรับใช้เป็นที่ขยายกิจการค้าของเขา เพราะนายคิงยังไม่มีสิทธิ์ซื้อที่ดินได้เพราะยังอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 10 ปี ด้วยเหตุนี้จึงขอให้หมอแมตตูนเป็นธุระช่วยซื้อที่ดิน ต่อมากิจการค้าของนายคิงล้มละลาย หมอแมตตูนจึงต้องรับภาระการจัดซื้อที่ดินที่สำเหร่นี้ไว้เอง
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1857 คณะมิชชันนารีก็เริ่มมาบุกเบิก หักร้างถางพงและเริ่มขนย้ายอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาที่สำเหร่นี้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สำเหร่จึงเป็นที่ทำการของคณะมิชชันนารีเพรสไบรทีเรียน ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าผู้คนอีกต่อไปแล้ว พระวิหาร โรงเรียน โรงพิมพ์ บ้านพักมิชชันนารี โกดังเก็บของ ต่างก็ได้ถูกสร้างขึ้นที่นี่ มิชชันนารีอีกหลายสิบครอบครัวต่างสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมารับผิดชอบงาน เช่น ศาสนาจารย์ในคริสตจักร ครูสอนเด็กๆ ผู้ควบคุมกิจการโรงพิมพ์และโรงเรียน มิชชันนารีที่เพิ่งมาจากต่างประเทศก็มาอาศัยที่สำเหร่ เรียนรู้ภาษาไทยสักระยะหนึ่งก่อนเดินทางไปประกาศศาสนาตามที่ต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น เชียงใหม่ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช เป็นต้นและในวันที่ 7 สิงหาคม 1859 นายชื่นก็เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับบัพติศมาโดยการประกาศของทางคณะมิชชันนารี

พระวิหารหลังแรก
                ในปี 1860 คริสตจักรได้ก่อสร้างพระวิหาร (วิหารสีขาว) โดยการบริจาคจากชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยและจากสหรัฐอเมริการวมกันประมาณ 700 เหรียญสหรัฐในวันที่ 25 พฤษภาคม 1862 พระวิหารได้เปิดนมัสการอย่างเป็นทางการและคริสตจักรสำเหร่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆของคณะมิชชั่น ต่อมาในปี 1890 ศจ.จอห์น เอ เอกิ้นได้ย้ายโรงเรียนของท่านมาเข้าร่วมกับทางสำเหร่ โรงเรียนใหม่นี้มีชื่อว่า “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล” ซึ่งต่อมาย้ายไปที่ถนนประมวญในปี 1902 และใช้ชื่อ “โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน” จนปัจจุบัน

ศิษยาภิบาลไทยคนแรก
                ในวันที่ 26 มิถุนายน 1896 ศจ.ญ่วน เตียงหยก ได้รับการสถาปนาให้เป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักร ซึ่งถือเป็นศิษยาภิบาลคนไทยคนแรกของคริสตจักร

พระวิหารหลังปัจจุบัน
                พระวิหารหลังเก่ามีความทรุดโทรมมาก ในปี 1910 คริสตจักรจึงได้สร้างอาคารหลังใหม่ให้มีลักษณะคล้ายหลังเก่า ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7,000 บาท โดยการบริจาคจากสมาชิกคริสตจักร และได้เปิดใช้มาจนถึงปัจจุบัน หอระฆังได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 1912 ต่อมาในปี 1963 คริสตจักรได้ก่อสร้างศาลาเตียงหยกและต่อเติมส่วนหลังของพระวิหารเพื่อรองรับสมาชิกที่เพิ่มขึ้นในปี 1988

การบูรณะเชิงอนุรักษ์ (ค.ศ. 2007 – 2011)
                พระวิหารคริสตจักรที่1สำเหร่ เป็นสถานนมัสการพระเจ้าของคริสเตียนกว่าร้อยปี ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้งเพื่อให้อยู่ในสภาพดี กระทั่งเมื่อประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ.2007 คณะธรรมกิจคริสตจักรได้มีมติที่ประชุมเพื่อทำการบูรณะเชิงอนุรักษ์อาคารพระวิหารและหอระฆัง รวมทั้งศาลาท่าน้ำ และแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011 ซึ่งการบูรณะครั้งนี้ใช้งบประมาณและเวลามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

การบูรณะระยะแรก
                เป็นการบูรณะตัวพระวิหารเป็นหลักอาทิเช่นเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับผนัง ซ่อมแซมหลังคาพระวิหารซึ่งมีสภาพทรุดโทรม ลอกผิวปูนผนังเดิมที่หมดสภาพออก ฉาบปูนผนังและใช้ปูนตำฉาบทับเป็นสีของอาคารตามแบบโบราณ บูรณะหอระฆัง เป็นต้น

การบูรณะอนุรักษ์ระยะที่ 2
                เป็นการดีดยกอาคารพระวิหารให้สูงขึ้น 2.6 เมตรซึ่งนับว่าเป็นระดับการดีดยกอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ หลังจากนั้นก็ทำการตกแต่งภายในดำเนินการโดยคำนึงถึงความสง่างาม มีคุณค่า และมีความหมายโดยเฉพาะบริเวณธรรมาสน์ ผนังประกอบด้วยไม้ 12 แผ่นหมายถึง ความครบถ้วน อิสราเอล 12 เผ่าหรือสาวก 12 คน ไม้กางเขนบนธรรมาสน์มีความยาวตามแนวดิ่ง 77 นิ้ว หมายถึงความสมบูรณ์หรือความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ และความยาวตามแนวนอน 33 นิ้วเท่ากับอายุของพระเยซูคริสต์พอดีส่วนกระจกสีและอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ พยายามใช้ของเดิมหรือรูปแบบเดิมให้มากที่สุด

สำเหร่ในวันนี้

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่มีความยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าร่วมนมัสการพระเจ้ากับเราในทุกวันอาทิตย์เวลา 10:00 - 12:00 น. ขอพระเกียรติและพระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุดและขอพระเจ้าทรงโปรดอวยพระพรทุกท่าน